วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หุ่นฟางนกเล็ก ภูมิปัญญาไทยใส่ใจโลกร้อนวัดโคกเข็ม

การทำหุ่นฟางนก หรือหุ่นฟางรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นหัตถกรรมภูมิปัญญาพื้นบ้านของจังหวัดชัยนาท ที่รังสรรค์ภายในครัวเรือนหลังว่าจากฤดูการทำนา จากวิถีชีวิตที่อยู่กับการทำนาเห็นฟางข้าว และหุ่นไล่กาที่คนรุ่นพ่อแม่ทำเพื่อไล่นกไล่กา และที่สำคัญการทำหุ่นฟางนกทำจากฟางข้าวที่ชาวนาเหลือจากการทำนา เมื่อจะทำนาในครั้งต่อไปก็จะเผาฟางข้าวและตอซังข้าวเพื่อความสะดวกจึงทำให้เกิดภาวะโลกร้อน มีหมอกควันและฝุ่นละออง และทำให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง

การจัดงานมหกรรมหุ่นฟางนกจังหวัดชัยนาท หุ่นฟางนก เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดชัยนาท ซี่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย เกิดจากแนวคิด ดร. ไพรัตน์ เดชะรินทร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ซึ่งขณะนั้นได้มีโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดงานรณรงค์ปราบหนูนาประจำปี และได้มีเกษตรกรได้จัดทำหุ่นฟางหนูนาขนาดใหญ่ด้วยหางข้าว เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มบรรยากาศของงานให้ดูครึกครื้น และเมื่อเปิดเสร็จก็มีการเผาหุ่นฟางหนูนาพร้อมหางหนูนาที่เกษตรกรจับได้ จากแนวคิดดังกล่าวน่าจะนำฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวของชาวนามาสร้างเป็นรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะหุ่นฟางรูปนกขนาดใหญ่น่าจะได้รับความสนใจ อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์สวนนกชัยนาท ซึ่งในขณะนั้นกำลังก่อสร้างให้เป็นที่รู้จักและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาท

การทำหุ่นฟางนก เป็นนกที่ใช้ฟางข้าวเป็นวัสดุหลักในการประดิษฐ์และส่วนประกอบเป็นสิ่งของที่หาได้ในพื้นถิ่น การทำหุ่นฟางนกมี 2 ชนิด คือ หุ่นฟางนกขนาดใหญ่จัดทำในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และหุ่นฟางนกขนาดเล็กซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เกษตรกรจัดทำขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และสืบสานภูมิปัญญา การทำหุ่นฟางนกซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย

การทำหุ่นฟางนกเล็กวัดโคกเข็ม
นายนิรันดร์ ชวนคิด ซึ่งเป็นประธานกลุ่มหุ่นฟางนกเล็กวัดโคกเข็ม บ้านใหม่บางกระเบียน ตำบลตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท กล่าวว่าได้รับการถ่ายทอดจากนายบรรจบ เงินฉลาด ซึ่งเป็นผู้มีภูมิรู้และสนใจศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง และมีผู้ว่าจ้างให้ทำหุ่นฟางนกขนาดใหญ่ส่งเข้าประกวดในงานมหกรรมหุ่นฟางนกและงานกาชาดจังหวัดชัยนาท เพราะนายบรรจบ เงินฉลาด เกรงว่าภูมิปัญญาการทำหุ่นฟางนกจะสูญหายและไม่มีผู้สืบทอด จึงได้ถ่ายทอดให้ผู้สนใจโดยการสนับสนุนของทางราชการ เมื่อได้รับการถ่ายทอดแล้วจึงได้ศึกษาเพิ่มเต็มประกอบกับเคยเห็นบิดามารดาทำหุ่นไล่กาที่ทำจากฟางข้าว จึงได้ศึกษาและคิดปรับรูปแบบการทำหุ่นฟางนกให้มีขนาดเล็กลงเพื่อเป็นของที่ระลึกประดับตกแต่งบ้านเรือนสำหรับผู้สนใจและเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำหุ่นฟางนกมิให้สูญหาย ขณะนี้มีสมาชิกในกลุ่มจำนวน 90 คน และได้เผยแพร่ให้ผู้สนใจได้ศึกษาหาความรู้ และสร้างคุณค่าด้านจิตใจและอารมณ์ มีความอดทน ความสามัคคี ความเอื้ออาทร สร้างความงานในชุมชนโดยไม่ต้องออกไปหางานทำที่อื่น และเพื่อลดภาวะโลกร้อนจากการเผาฟางข้าวเนื่องจากการเผาทำลายฟางข้าว และเป็นการใช้วัสดุที่ได้จากวิถีชีวิตความเป็นอยู่อาชีพการทำนา และได้พัฒนาขยายผลเป็นของประดับตกแต่งที่มาจากการทำการเกษตรมาเป็นหุ่นฟางนกเล็ก หากส่วนราชการเข้ามาดูแลและส่งเสริมในอนาคตอาจมีการจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นเปิดสอนในสถานศึกษาในพื้นที่ทำให้การทำหุ่นฟางนกเล็กของกลุ่มวัดโคกเข็มไม่สูญหายไป